ฮีทสโตรก หรือ โรคลมแดด เป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนออกได้ทันท่วงที ส่งผลให้ร่างกายมีความร้อนสูงเกินไป มักเกิดจากการสัมผัสอากาศร้อนหรือออกแรงกายหนักเป็นเวลานานในสภาพอากาศร้อน อุณหภูมิร่างกายที่สูงเกินไปอาจส่งผลต่ออวัยวะสำคัญ เช่น สมอง หัวใจ ไต กล้ามเนื้อ และอาจเสียชีวิตได้

จากอัตราการเสียชีวิตด้วยอาการฮีทสโตรกหรือโรคลมแดดในปีนี้ 2 เดือนแรกที่ผ่านมา พบผู้เสียชีวิตถึง 30 ราย มากกว่าปี 2566 ในช่วงเดียวกันถึง 2 เท่า ทำให้หลายคนหันมาสนใจหาทางป้องกัน และหาวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตด้วยอาการฮีทสโตรกหรือโรคลมแดด

ฮีทสโตรก หรือโรคลมแดดมีอาการอย่างไร?

แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

  • ฮีทสโตรกแบบไม่มีเหงื่อออก : พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ และเด็กเล็ก
    • อุณหภูมิร่างกายสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส
    • ผิวหนังแห้ง ร้อน แดง
    • ชีพจรเต้นเร็ว อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน
    • อาจมีอาการทางระบบประสาท เช่น สับสน เพ้อ ชัก หมดสติ
  • ฮีทสโตรกแบบมีเหงื่อออก : พบได้บ่อยในคนอ้วน ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง นักกีฬา และผู้ที่ออกกำลังกายหนัก
    • อุณหภูมิร่างกายสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส
    • ผิวหนังชื้น แต่อาจจะร้อน
    • ชีพจรเต้นเร็ว อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน
    • อาจมีอาการทางระบบประสาท เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ

การป้องกันฮีทสโตรก  หรือโรคลมแดด

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรง
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่หลวม ระบายอากาศได้ดี
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน
  • ระวังเป็นพิเศษในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เด็กเล็ก คนอ้วน ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง นักกีฬา และผู้ที่ออกกำลังกายหนัก

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อมีอาการฮีทสโตรก หรือโรคลมแดด

หากสงสัยว่าตัวเอง หรือผู้อื่นมีความเสี่ยง ต้องรีบปฐมพยาบาลผู้ป่วยโดยเร็วที่สุด ดังนี้

  • ย้ายไปยังที่ร่ม อากาศถ่ายเทสะดวก หลีกเลี่ยงการโดนแสงแดดโดยตรง
  • คลายเสื้อผ้าบางส่วนของผู้ป่วย เช่น เสื้อนอก กางเกง รองเท้า ถุงเท้า เพื่อระบายความร้อน
  • เช็ดตัวผู้ป่วยด้วยน้ำเย็นหรือผ้าชุบน้ำหมาดๆ โดยเฉพาะบริเวณที่มีเส้นเลือดใหญ่ เช่น ซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ
  • เปิดพัดลมหรือแอร์ เพื่อช่วยระบายความร้อน
  • ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเย็นหรือเกลือแร่ทีละน้อย เพื่อชดเชยน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไป
  • ประคบเย็นบริเวณหน้าผาก ซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ
  • เฝ้าระวังอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น หมดสติ ชัก ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
สิ่งที่ไม่ควรทำ
  • ห้ามอาบน้ำเย็น
  • ห้ามดื่มน้ำเย็นจัด
  • ห้ามให้ยาแก้ปวดหรือยาคลายกล้ามเนื้อ
กรณีผู้ป่วยมีอาการหมดสติ
  • วางผู้ป่วยให้นอนตะแคงข้าง เปิดทางเดินหายใจให้โล่ง
  • สังเกตว่าผู้ป่วยหายใจหรือไม่ หากผู้ป่วยไม่หายใจ ให้รีบทำ CPR
  • โทรแจ้ง 1669 หรือหน่วยกู้ภัยในพื้นที่

ถึงแม้ในช่วงที่อากาศร้อนถึง 40 องศาอย่างนี้ จะทำให้หลายคนเสี่ยงเกิดอาการฮีทสโตรกมากขึ้น แต่หากคุณป้องกัน และปฐมพยาบาลได้อย่างถูกวิธีก็จะลดความเสี่ยงเสียชีวิตได้